ข้อมูลข่าวสาร
สคช.คิกออฟการันตีความสามารถคนในวงหมอลำ จัดทำมาตรฐานอาชีพนำร่อง หวังยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สากล
สคช.คิกออฟการันตีความสามารถคนในวงหมอลำ จัดทำมาตรฐานอาชีพนำร่อง หวังยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สากล
ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วยนางสาวโอมิกา บุญกัน ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ นำทีมหารือระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตกรรมและงานพื้นบ้าน สาขาการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (กลุ่มอาชีพการแสดงหมอลำ) โดยมีคุณสุชาติ อินทร์พรม หรือที่รู้จักกันในวงการ “เฮียหน่อย” ผู้อำนวยการสร้างรายการหมอลำไอดอล และผู้บริหารวงหมอลำอีสานนครศิลป์ และคุณชุติมา พัฒนพงศ์ ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาการเชิงพื้นที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมประชุมแบบออนไซต์ ณ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และขณะเดียวกันยังมีผู้เข้าร่วมในการระดมความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ ประกอบด้วย ผู้แทนจากวงหมอลำคณะต่างๆ เช่น คุณพิริยะ นาคเนาวัตน์ ผู้บริหารวงหมอลำซานเล้าบันเทิงศิลป์, ผู้บริหาร บริษัท นิวเจนเอ็นเตอร์เทนเมนต์, ศิลปินหมอลำ จินตนา เย็นสวัสดิ์, ศิลปินหมอลำ วีรพงษ วงศ์ศรี, วิวัฒน์วงศ์ หาญสุริย์ หัวหน้าคณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฏร์ นอกจากนี้ก็มีผู้แทนจากหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนและการทำงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หมอลำ อาทิคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย เป็นต้น
ดร.ณฐา กล่าวว่า หมอลำเป็นอีกก้าวสำคัญของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในการยกระดับอาชีพศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทย ให้ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ หมอลำไม่ใช่เพียงการแสดงเพื่อความบันเทิง แต่เป็นศาสตร์ที่มีรากลึกในวัฒนธรรมอีสาน ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทกลอนและทำนองอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งการให้การรับรองกับกลุ่มคนในอาชีพนี้ นอกจากจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับศิลปินหมอลำแล้ว ยังเป็นการต่อยอด Soft Power ของไทยให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะที่มีหน้าที่หลักในการให้การรับรองคนด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ และยังร่วมในการเป็นคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึงร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์อาหาร และท่องเที่ยว เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำมาตรฐานอาชีพหมอลำ ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่นำไปสู่การรับรองให้กับคนอุตสาหกรรมงานศิลปะไทยและวัฒนธรรมสร้างสรรค์
โดยข้อสรุปที่ได้จากการระดมความคิดเห็นร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหมอลำ คือ สถาบันจะเริ่มดำเนินการจัดทำมาตรฐานอาชีพนำร่อง ใน 3 อาชีพ คือ อาชีพศิลปินหมอลำ, อาชีพนักดนตรีหมอลำและแดนเซอร์ ซึ่งทั้ง 3 อาชีพนี้เป็นบุคลากรที่เป็นกลุ่มใหญ่ในวงหมอลำ จากนั้น จะมีการดำเนินการต่อในอาชีพอื่นๆ ที่เป็นผู้สร้างสรรค์งานในวงหมอลำต่อไป
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้มีการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ก็เพื่อให้ศิลปินหมอลำและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องในวงหมอลำ ได้มีโอกาสเติบโตมีแนวทางพัฒนาอาชีพที่ชัดเจน สามารถปรับตัวและเติบโตได้ในตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งยังสามารถนำคุณวุฒิวิชาชีพตามทักษะ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการมีมาตรฐานอาชีพไปเทียบเคียงกับคุณวุฒิในภาคการศึกษาได้อีกด้วย
07.02.2568